วันศุกร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ไขปริศนาการสร้างและเคลื่อนย้ายโมอาย

เรื่องราวของโมอาย (Moai) นับเป็นเรื่องลึกลับเรื่องนึง ซึ่งประเด็นอยู่ที่ตัวโมอายของนั่นเอง นั่นคือวิธีการสร้างและเคลื่อนย้าย วันนี้เราจะมานําเสนอประเด็นซึ่งเป็นข้อเท็จจริงและสามารถพูดได้เต็มปากว่า "ปริศนาทั้งหมดไขกระจ่างแล้ว!"
แท่งหินโมอายนั้นถูกสร้างในช่วงปี 1250 ถึง 1500 ของแท้ของจริงมีอยู่ที่เดียว คือที่เกาะ Easter Island หรือที่ชาวพื้นเมืองเชื้อสาย Polynesian เรียกกันว่า Rapa Nui (ราปานุย) ความเก๋าของเกาะนี้คือ มันตั้งอยู่ห่างไกลแผ่นดินอื่น (Tahiti และ Chile) ถึง 2,000 ไมล์ เรียกว่าอยู่กันแบบสันโดษไปเลย จนกระทั่งนักสำรวจชาวดัตช์นามว่า Jacob Roggeveen มาพบเข้า ในวันอีสเตอร์พอดิบพอดี (และนั่นคือที่มาของชื่อเกาะ) เมื่อปี 1722 จึงเริ่มทำให้โมอายกลายเป็นที่รู้จักไปทั่วพิภพในเวลาต่อมา หลายคนเข้าใจว่ามันมีแต่หัว แต่จริงๆ แล้วเขาสร้างมาทั้งตัว แต่ส่วนใหญ่ถูกดินกลบทับอยู่ ทำให้มีแต่ช่วงหัวที่โผล่ออกมาสู้ฟ้าดิน (อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับ เกาะอีสเตอร์ เพิ่มเติม ที่นี่)
 
ความไม่ธรรมดาของโมอายนั้น เริ่มที่ขนาดมหึมาของมัน ที่บางแท่งสูงถึง 10 เมตร หนัก 80 กว่าตัน (มีการสำรวจพบบางแท่งที่ยังแกะไม่เสร็จ มีความสูงถึง 21 เมตร หนัก 270 ตัน !)
 
แม้การพบรูปสลักหินซึ่งชาวเกาะโพลินีเซียขนานนามกันว่า โมอาย นี้อยู่ตามถนนหนทางเก่าแก่อยู่บ้าง แต่รูปสลักนี้ที่จริงสร้างขึ้นเพื่อประดับ อาฮู (ahu) อันเป็นศาลเทพเจ้าซึ่งตั้งอยู่ตามแถบชายฝั่งมหาสมุทร จวบจนทุกวันนี้มีการค้นพบอาฮูทั้งหมด 239 แห่ง มีลักษณะเป็นฐานหินขนาดใหญ่ บางชิ้นยาวถึง 60 เมตร บางแห่งเป็นที่ตั้งของสุสานด้วย ศพจะวางทิ้งไว้บนอาฮูจนเหลือแต่โครงกระดูก จากนั้นจึงนำเอากระดูกบรรจุในช่องใต้ฐานหินนี้
 
รูปสลักหินขนาดมหึมาบนเกาะอีสเตอร์นี้มีจำนวนประมาณ 1,000 รูป มีขนาดสูงตั้งแต่ 1-21 เมตร และคงจะเป็นรูปของหัวหน้าเผ่าที่มีชื่อเสียง หรือรูปของบรรพบุรุษผู้ล่วงลับของชาวเกาะผู้ที่สร้างชื่อเหล่านี้ขึ้น
 
รูปสลักสูง 9.8 เมตร ซึ่งนับว่าใหญ่ที่สุดเท่าที่พบบนอาฮูนั้น ปัจจุบันอยู่ในสภาพหักพังกองอยู่กับพื้นดินในลักษณะที่บ่งให้รู้ว่าถูกผลักหล่นลงมาจาก อาฮู ซึ่งก็ไม่มีผู้ใดทราบถึงสาเหตุ สันนิษฐานกันว่ารูปสลักแต่ละรูปนั้นคงจะต้องใช้แรงงานคนประมาณ 90 คน และใช้เวลาถึง 18 เดือนในการแกะสลักและนำไปตั้งเข้าที่
 
นับตั้งแต่ที่ชาวตะวันตกรู้จักเกาะอีสเตอร์เป็นต้นมา เกาะแห่งนี้ก็ไม่เคยมีประชาชนเกิน 4,000 คน แต่ในสมัยโบราณจำนวนประชากรสูงกว่านี้มาก รูปสลักบนเกาะแห่งนี้ไม่มีรอยตำหนิใดๆ ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากการขนย้าย แสดงว่าคงต้องมีเครื่องห่อหุ้มที่ทำจากไม้ปกป้องอยู่ขณะเคลื่อนย้าย แม้ว่าปัจจุบันแทบจะไม่มีต้นไม้ใหญ่ให้เห็น แต่ก็มีหลักฐานว่าแถบนี้เคยมีป่าไม้หนาทึบมาก่อน จึงน่าจะมีไม้ใช้ทำเลื่อนเพื่อการเคลื่อนย้ายอย่างมากมาย
 
เกาะอีสเตอร์เป็นเกาะที่อยู่สุดทางทิศตะวันออกของบรรดาหมู่เกาะโพลินีเชีย ปัจจุบันมีประชากรประมาณ 1,600 คน เป็นแหล่งภูเขาไฟมาแต่เดิมเช่นเดียวกับเกาะอื่นๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิก
 
ประติมากรรมเหล่านี้แกะสลักจากหินปูนแข็งประกอบด้วยเถ้าลาวาจากภูเขาไฟอัดตัวกันเป็นก้อน หาได้จากยอดภูเขาไฟเตี้ยๆ ชื่อว่า ราโนรารากู (Rano Raraku) ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของเกาะ รูปสลักบางรูปจะมีผมจุกขนาดใหญ่สีแดงอยู่บนหัว แกะจากหินสโกเรียสีแดง (scoria) จุกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดนั้นมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2.4 เมตร สูง 1.8 เมตร หนัก 11.5 ตัน แต่ส่วนใหญ่จะมีขนาดเล็กกว่านี้มาก หินสีแดงนี้ได้จากเหมืองที่ปูนาเปา ซึ่งเป็นยอดภูเขาไฟเตี้ยๆ ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้
 
มีการพบอุปกรณ์แกะสลักที่เรียกกันว่า โตกิ (toki) ทิ้งอยู่ตามเหมืองหินที่ราโนรารากู คำว่าโตกิเป็นภาษาราปานุย (Rapa Nui) อันเป็นภาษาท้องถิ่นของชาวเกาะอีสเตอร์ ใช้เรียกเครื่องมือประเภทผึ่งถากไม้หรือขวาน ทำจากหินบะซอลต์ซึ่งเป็นหินภูเขาไฟ ลักษณะเป็นก้อนสีคล้ำอยู่ในหินปูนแข็ง (ที่เกิดจากเถ้าภูเขาไฟ) ซึ่งมีเนื้ออ่อนกว่า
 
มีรูปสลัก 394 รูปที่ยังแกะค้างทิ้งอยู่ตามเหมืองหิน แกะสลักไปแล้วมากน้อยต่างๆ กัน บ้างก็เพิ่งจะขึ้นโครงหน้าบนผิวของก้อนหิน ที่ใกล้เสร็จมีเพียงน้อยชิ้น ซึ่งก็เหลือเพียงตอกให้รูปสลักหลุดจากหน้าผาเท่านั้น บ้างก็นอนหงายอยู่ บ้างก็ตะแคงข้างหลบลึกเข้าไปในซอกหน้าผาดังซากศพในหลุม บางชิ้นก็ใกล้จะได้เวลาเคลื่อนย้ายโดยมีหินก้อนกลมๆ รับน้ำหนักไว้
 
ดร. โจแอน ฟาน ทิลเบิร์ก นักโบราณคดีชาวอเมริกัน บันทึกเรื่องรูปสลัก 823 รูปของเกาะอีสเตอร์ไว้ว่ารูปแกะสลักรุ่นหลังๆ มีขนาดใหญ่มากขึ้นเป็นลำดับ ชิ้นใหญ่ที่สุดซึ่งยังไม่เสร็จและทิ้งค้างอยู่ในเหมืองหินนั้น หากทำเสร็จน่าจะยาวถึง 21 เมตร หนักประมาณ 200 ตัน รูปสลักเหล่านี้สร้างต่อเนื่องกันมาในช่วงเวลาหลายร้อยปี เพิ่งเลิกสร้างไปเมื่อราว 200 ปีก่อนชาวยุโรปพวกแรกจะไปถึงเกาะแห่งนี้ในคริสศตวรรษที่ 18
ใกล้ๆ ส่วนบนของเหมือง มีรูลึกลงไปในหินประมาณ 1 แมตร อยู่หลายคู่ แต่ละคู่มีช่องเชื่อมถึงกันที่รู คงจะใช้เป็นที่ร้อยเชือก นอกจากรูคู่เหล่านี้ยังมีร่องรายต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นจากเชือกที่หนาถึง 10 เซนติเมตร เชือกนี้คงถักจากเส้นใยพืชประเภทต้นชบา คานไม้ที่สอดอยู่ในช่องหินก็ใช้สำหรับพันเส้นเชือก คล้ายเป็นเสาผูกโยงเชือกที่แกะจากหินที่ยื่นออกมา
 
เส้นเชือกนี้ช่วยบังคับการเคลื่อนย้ายรูปสลักลงไปตามเนินกรวดของภูเขาไฟราโนรารากู ที่เนินชั้นล่างสุดของภูเขาไฟลูกนี้มีรูปสลักตั้งอยู่ถึง 103 รูป ส่วนใหญ่แล้วจมอยู่ใต้ดินจนถึงส่วนคอ จากการขุดค้นบ่งว่าเขาคงจะเลื่อนรูปสลักเหล่านี้ให้ไถลลงสู่หลุมเพื่อรูปตั้งขึ้น จากนั้นก็จะตกแต่งส่วนหลังของรูปให้เสร็จเรียบร้อย
 
ศาสตราจารย์วิลเลียม มัลลอย ผู้ล่วงลับไปแล้วแห่งมหาวิทยาลัยไวโอมิง เสนอไว้เมื่อทศวรรษ 1970 ว่าการเคลื่อนย้ายรูปสลักไปสู่ที่หมายคงใช้วิธีคว่ำหน้ารูปสลักลงและมัดติดไว้กับเครื่องโล้หรือเลื่อนรูปโค้งที่ทำจากซุง การที่รูปแกะสลักมีพุงพลุ้ยนั้นก็น่าจะเข้ากับข้อสันนิษฐานนี้ เลื่อนหรือเครื่องโล้นี้คงจะเคลื่อนที่ไปโดยมีเสาใหญ่ตั้งขนาบอยู่ 2 ข้าง แต่บันทึกของ ดร.ฟาน ทิลเบิร์ก กลับแสดงความเห็นขัดแย้งว่า แบบของรูปสลักทำให้ไม่น่าจะใช้วิธีการดังกล่าวได้
 
การเคลื่อนย้ายโดยวิธีใดก็ตาม ย่อมขึ้นอยู่กับ 2 สิ่ง คือแรงงานและไม้ซุงจำนวนมาก ซึ่งข้อมูลใหม่ๆ แสดงว่ามีปัจจัยทั้ง 2 อย่างเหลือเฟือในยุคที่มีการเคลื่อนย้ายรูปสลัก กล่าวคือนักโบราณคดีขุดพบว่าบ้านและหมู่บ้านหลายแห่งมีโครงเป็นไม้ซุงอยู่บนฐานหิน ในช่วงปี 1000-1500 ที่มีการสร้างรูปสลักและอาฮูนั้น เกาะนี้อาจมีประชากรถึง 10,000 คน
 
ปริศนาเรื่องไม้ซุงมาจากไหน หาคำตอบได้ที่ทะเลสาบปากปล่องภูเขาไฟราโนรารากูนั่นเอง – จอห์น เฟลนลีย์ นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษจากมหาวิทยาลัยฮัล ได้พบฟอสซิลของเกสรดอกไม้เป็นจำนวนมากที่ก้นทะเลสาบ ซากเกสรเก่าแก่หลายร้อยปีเหล่านี้แสดงว่าครั้งหนึ่งเกาะอีสเตอร์เคยมีพืชพรรณอุดมสมบูรณ์และเคยมีป่าปาล์มมาเป็นเวลาประมาณ 30,000 ปี แต่เพิ่งหมดไปเมื่อ 1,000 ปีที่ผ่านมา
 
ป่าไม้บนเกาะนี้คงถูกทำลายเพื่อนำที่ดินมาใช้ในการเพาะปลูกเลี้ยงประชากรที่มีมากขึ้นและคงมีสงครามแย่งที่ทำกิน ทำให้ผู้คนล้มตายลงมาก
 
ศาสตราจารย์ชาลส์ เลิฟ แห่งวิทยาลัยเวสเทิร์นไวโอมิง เสนอทฤษฎีว่ารูปสลักเหล่านี้เคลื่อนย้ายมาในสภาพแนวตั้ง เพื่อพิสูจน์ทฤษฎีนี้ เขาจึงได้ลองนำรูปสลักหล่อด้วยคอนกรีตตั้งบนเลื่อนไม้และกลิ้งไปบนท่อนซุง มีอาสาสมัครช่วยกันใช้เชือกลากรูปสลักหรือบางทีก็ต้องดึงให้แรงยึดโยงระหว่างเส้นเชือกบังคับรูปสลักไว้มิให้ทิ่มลงมา
 
วิธีการนี้ใช้ได้ผลกับรูปจำลองคอนกรีตที่ใช้ทดลอง แต่ในความเป็นจริงมีรูปสลักไม่กี่รูปที่มีฐานล่างใหญ่พอให้เคลื่อนย้ายได้ด้วยวิธีนี้
 
ดร.ฟาน ทิลเบิร์ก ศึกษารูปสลัก 47 รูปที่นอนอยู่ตามทางที่เตรียมไว้จากภูเขาไฟราโนรารากูไปสู่อาฮูริมฝั่งทะเลและเสนอว่าคนโบราณน่าจะเคลื่อนย้ายรูปสลักโดยจัดให้วางไปในแนวนอนอาจจะมีการห่อหุ้มรูปสลักเพื่อป้องกันรอยตำหนิก่อนบรรทุกขึ้นบนเลื่อนไม้ แล้วกลิ้งไปบนท่อนซุงมีคานงัดและเชือกช่วย วิธีนี้ดูจะใช้ได้ดีถ้ารูปสลักยาว 4-5 เมตร แต่ถ้ารูปสลักยาวสัก 10 เมตร คงเคลื่อนย้ายไปได้ไม่ไกลกว่า 1.6 กิโลเมตร จากเหมือง
 
การยกรูปสลักขนาดใหญ่ขึ้นตั้งบนฐานนั้นเป็นงานใหญ่อีกเช่นกัน ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1960 ศาสตราจารย์มัลลอยกับพวกชาวเกาะได้ทดลองยกรูปสลักหนัก 16 ตัน จำนวน 7รูปขึ้นตั้ง รูปสลักเหล่านี้อยู่ที่อาฮู อาคิวิ ทางทิศตะวันตกของเกาะ การทดลองช่วยชี้ให้เห็นว่ารูปสลักขนาดใหญ่ที่สุดสามารถยกตั้งขึ้นที่บริเวณชายฝั่งทางทิศเหนือได้อย่างไร
 
เกาะอีสเตอร์มีรูปสลักหินซึ่งเรียกกันว่า ปาโร (Paro) รูปใหญ่ที่สุดนั้นปัจจุบันเป็นซากปรักหักตกอยู่หน้าอาฮูที่รูปเคยตั้งอยู่ รูปนี้สูง 9.8 เมตร หนักประมาณ 82 ตัน ศาสตราจารย์วิลเลียม มัลลอย แห่งมหาวิทยาลัยไวโอมิง ประมาณว่าคงต้องใช้ช่าง 30 คนสลักเป็นเวลาประมาณ 1 ปี และใช้แรงงานคน 90 คน เป็นเวลา 2 เดือนเพื่อเคลื่อนย้ายรูปสลักจากเหมืองมาถึงชายฝั่งมหาสมุทร รวมระยะทางเกือบ 6 กิโลเมตร และคงต้องใช้แรงงานคนอีกประมาณ 90 คนเป็นเวลาอีก 3 เดือนเพื่อตั้งรูปนี้ขึ้นบนฐาน ส่วนที่เป็นผมจุกซึ่งสูง 1.8 และหนัก 11 ตันนั้น คงกลิ้งมาจากเหมืองหินปูนาเปา วึ่งอยู่ห่างออกไป 13 กิโลเมตร
 
 
 
 เมื่อปี 1970 ศาสตราจารย์มัลลอยเสนอว่าการเคลื่อนย้ายรูปปาโรนั้นเขาคงจะวางรูปให้คว่ำหน้าอยู่บนเลื่อนไม้ที่เป็นง่ามสองแฉก หนักประมาณ 5 ตัน แล้วเคลื่อนย้ายไปโดยอาศัยเสา 2 ต้นที่ยอดเสาผูกติดกัน แต่ปลายล่างกางแยกจากกันเป็นง่าม แต่ปัจจุบันผู้เชี่ยวชาญเสนอว่ารูปสลักส่วนใหญ่อาศัยเลื่อนชักลากไปบนลูกกลิ้งไม้ซุง
 
โมอายทั้งหมดบนเกาะอีสเตอร์แห่งนี้ มีประมาณ 887 ตัว กระจัดกระจายอยู่ทั่วเกาะ บ้างก็ทำเสร็จและตั้งอยู่บนฐานอาฮูสมบูรณ์แล้ว บางก็ยังแกะไม่เสร็จ บ้างก็ยังล้มอยู่ก็มี โมอายตัวที่ใหญ่ที่สุดที่ยังไม่ตั้งอยู่ที่ราโนรารากู สูง 71.93 ฟุต หนัก 145-165 ตัน ส่วนโมอายตัวใหญ่ที่สุดที่ตั้งขึ้นเรียบร้อยแล้วอยู่ที่ Ahu Te Pito Kura สูง 32.63 ฟุต
 
จากภาพ รูปสลักหิน "โมไอ" ที่ฝังจมดินถึงยอดอก อยู่ทางเนินทิศตะวันตกเฉียงใต้ของราโนรารากูก็เช่นเดียวกันกับ รูปสลักหลายรูปที่ไปไม่ถึงศาลเทพเจ้าริมฝั่งมหาสมุทร หลังการแกะสลักจากเหมืองหินบนเกาะนี้แล้ว รูปสลักก็ถูกเลื่อนลงหลุมเพื่อให้ช่างแต่งด้านหลังของรูป แล้วก็ถูกทิ้งค้างเช่นนี้ตลอดมา
 
แต่ยังมีอีกหนึ่งสมมุติฐานกล่าวว่า ไม้คือหัวใจของการเคลื่อนย้ายโมอาย ซึ่งก็มีมูลอยู่บ้าง เพราะเมื่อเกาะอีสเตอร์ถูกค้นพบ มันไม่มีต้นไม้ใหญ่หลงเหลืออยู่เลย แถมผู้คนก็ละทิ้งอพยพไปจากเกาะที่ไร้ซึ่งทรัพยากรธรรมชาติแห่งนี้หมดแล้ว อาจเป็นได้ว่า ชาวราปานุยมัวแต่จะบูชาบรรพบุรุษกันจนหน้ามืดตามัว โค่นล้มต้นไม้เพื่อมาใช้ลำเลียงหินยักษ์ จนไปๆ มาๆ ป่าหายหมด เป็นเหตุให้เหล่าสรรพสัตว์ไม่มีที่พักพิง ตอนหลังเกิดสงครามเข่นฆ่ากันเอง (แถมยังมาพาลล้มโมอายจนหมด) เพื่อแย่งอาหารน้อยนิดที่เหลืออยู่ ทำให้อารยธรรมการสร้างโมอายมาถึงจุดสิ้นสุด ไปพร้อมๆ กับตำนานชนเผ่าราปานุย
 
Pavel Pavel นักทดลองชาวเช็ก ได้ตั้งสมมุติฐานว่า การเคลื่อนย้ายแท่งหินขนาดเขื่องนี้สามารถทำได้ด้วยเชือกและคนเพียงสิบเจ็ดคน เขาไม่ได้แค่คิด เพราะเขาก็ได้พิสูจน์ให้เห็นในเวลาต่อมา ณ สถานที่จริง ว่าสามารถทำได้จริงๆ โดยผูกเชือกไว้ตามส่วนหัวและลำตัว จากนั้นให้คน 17 คนสลับกันดึงให้รูปปั้นโยกเยกประหนึ่งเดินได้ไปถึงจุดหมายอย่างปลอดภัย
 
ผู้พิทักษ์ศาลเทพเจ้าปาโรเป็นรูปสลักหินหนัก 25 ตัน ตั้งเรียงรายอยู่บนอาฮู (ศาลเทพเจ้า) ณ บริเวณชายฝั่งทางทิศเหนือของเกาะอีสเตอร์ ทุกรูปหันหน้าเข้าหาแผ่นดิน รูปสลักเคลื่อนย้ายมาถึงจุดนี้ในสภาพไร้ดวงตา เมื่อคนงานตั้งรูปขึ้นมาก็คงจะต่อนั่งร้านเพื่อแกะสลักเบ้าตา แล้วใส่ลูกตาซึ่งแกะจากปะการังสีขาวกับหินสโกเรียสีแดง ส่วนที่เป็นจุกบนศีรษะอาจจะหมายถึงผมจุกก็ได้
 
เกาะอีสเตอร์ (Easter Island) หรือตามภาษาถิ่นเรียกว่า เกาะราปานุย (Rapa Nui) ตั้งอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกอยู่ในการปกครองของประเทศชิลี ซึ่งเกาะห่างจากฝั่งประเทศชิลีกว่า 3,600 กิโลเมตร ไปทางทิศตะวันตก เกาะนี้ได้ชื่อว่าเป็นสถานที่อันโดดเดี่ยวแห่งหนึ่งของโลก ลักษณะของเกาะมีขนาดเล็ก มีพื้นที่เพียง 160 ตารางกิโลเมตร มีความยาว 25 กิโลเมตร เวลาต่างจากไทย คือ ช้ากว่าไทยประมาณ 11 ชั่วโมง ใช้เงินสกุลเปโซชิลี (Chilean Peso) อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐ ประมาณ 520.40 เปโซ การเดินทางจากประเทศไทยสามารถนั่งเครื่องบินมาลงที่ Santiago Airport ซันติอาโก ประเทศชิลี หรือลงที่ Faaa Airport, Papeete, ประเทศเฟรนช์โปลินีเซีย แล้วต่อเครื่องบินของสายการบิน Lan Airlines มายังเกาะอีสเตอร์ได้
 
โมอายได้ถูกรับเลือกเป็นมรดกโลกเมื่อปี พ.ศ. 2533 โดยมีเหตุผลดังนี้
 
-เป็นตัวแทนซึ่งแสดงผลงานชิ้นเอกที่จัดทำขึ้นด้วยการสร้างสรรค์อันฉลาด
-เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงหลักฐานของวัฒนธรรมหรืออารยธรรมที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันหรือว่าที่สาบสูญไปแล้ว
-เป็นตัวอย่างอันโดดเด่นของวัฒนธรรมมนุษย์ ขนบธรรมเนียมประเพณีแห่งสถาปัตยกรรม วิธีการก่อสร้างหรือการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ซึ่งเสื่อมสลายได้ง่ายจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมตามกาลเวลา